Get Adobe Flash player

ปลัด อบต.

PLa1

สถิติผู้เยี่ยมชม

2679246
วันนี้
เมื่อวาน
อาทิตย์นี้
อาทิตย์ที่แล้ว
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
รวม
273
716
3330
2664259
9611
29379
2679246

Your IP: 3.138.195.54
Server Time: 2025-05-06 08:59:46

facebook

Articles

โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

 

1.เด็กแรกเกิดที่มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุน

      ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ได้เห็นขอบโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยให้จ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้กับผู้ปกครองที่ดูแลเด็กแรกเกิดจนอายุครบ 6 ปี และอยู๋ในครอบครัวผู็ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี หรือบิดาและมารดาเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

     1.เด็กที่รับสิทธิ์ในปีงบประมาณ 2559-2561 (เด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 - 30 กันยายน 2561) ยังคงรับสิทธิ์อย่างต่อเนื่องจนอายุครบ 6 ปี

     2.เด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 - 30 กันยายน 2561 ที่ไม่มีคุณสมบัติตามระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชน ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ.2561 แต่มีคุณสมบัติตามระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชน ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ.2562 มีสิทธิ์ได้รับเงินนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 จนอายุครบ 6 ปี

     3.เด็กที่เกิดตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 ได้รับสิทธิ์จนอายุครบ 6 ปี

2.คุณสมบัติ

     2.1 มีสัญชาติไทย

     2.2 เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไปจนอายุครบ 6 ปี

     2.3 ต้องไม่เป็นผู้ได้รับเงินช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร จากหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรืออยู่ในความอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน

     2.4 ต้องอาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่อยู๋ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย หรืออยู๋กับบิดาและมารดาที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรืออยู่กับมารดาถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยไม่ปรากฎบิดา หรืออยู่กับบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่ปรากฎมารดา

 

แบบฟอร์มการลงทะเบียน

1. แบบ ดร.01

2. แบบ ดร.02

 

เอกสารประกอบการลงทะเบียน

1.แบบคำร้องขอลงทะเบียน (ดร.01)

2. แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)

3. บัตรประจำตัวประชาชนของหญิงตั้งครรภ์/มารดา/บิดา หรือผู้ปกครอง

4. สำเนาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

5. สำเนาสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (เฉพาะหน้าที่ปรากฎชื่อหญิงตั้งครรภ์)

6.สำเนาสูติบัตรเด็กแรกเกิด

7.สำเนาหน้าแรกของสมุดบัญชีเงินฝากของผู้ที่จะรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (ธนาคารกรุงไทย/ธนาคารออมสิน/ธนาคาร ธกส.)

โรคมือเท้าปากเปื่อย

โรคมือเท้าปากเปื่อย

โรคมือเท้าปากเปื่อยเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก ทำให้มีอาการไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว จัดเป็นโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย

 

สาเหตุของโรคมือเท้าปากเปื่อย

โรคมือเท้าปากเปื่อยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย เช่น คอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) กลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต สำหรับผู้ใหญ่พบโรคนี้ได้บ้าง

 

การติดต่อของโรคมือเท้าปากเปื่อย

โรคมือเท้าปากเปื่อยสามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใส รวมถึงอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่ และสามารถติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสของเล่น พื้นผิวสัมผัสที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ มือของผู้เลี้ยงดู โดยสถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล และช่วงที่มักมีการระบาดของโรคนี้คือ ช่วงฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว อย่างไรก็ดี โรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่สัตว์หรือสัตว์สู่คน

 

ทั้งนี้ โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้อีก เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของเชื้อไวรัสเดียวกัน

 

อาการและภาวะแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปากเปื่อย

อาการเริ่มต้นของโรคมือเท้าปากเปื่อยจะคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ประมาณ 2-4 วัน และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จากนั้นจะมีผื่นแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ต่อมาเกิดผื่นแดงที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ในบางรายอาจพบที่ก้นด้วย โดยผื่นที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสและแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ โดยส่วนใหญ่หากไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นอาการมักหายได้เองภายใน 7-10 วัน

 

อย่างไรก็ตาม โรคมือเท้าปากเปื่อยอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงเสียชีวิตได้ โดยอาการแทรกซ้อนไม่สัมพันธ์กับจำนวนแผลในปากหรือตุ่มที่พบตามฝ่ามือฝ่าเท้า ในรายที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงอาจมีแผลไม่กี่จุดในลำคอหรืออาจมีตุ่มเพียงไม่กี่ตุ่มตามฝ่ามือฝ่าเท้าก็ได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก แม้จะดูว่าผื่นและแผลในปากหายไปแล้วก็ตาม โดยสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เช่น

  • เด็กมีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่อยากรับประทานอาหารหรือนม

  • บ่นปวดศีรษะมาก ปวดทนไม่ไหว

  • มีอาการพูดเพ้อไม่รู้เรื่อง สลับกับการซึมลง หรือเห็นภาพแปลกๆ

  • ปวดต้นคอ คอแข็ง มีการรับรู้สับสน ซึมลง และอาเจียน

  • มีอาการสะดุ้งผวา ตัวสั่นๆ แขนหรือมือสั่นบ้าง

  • มีอาการไอ หายใจเร็ว ดูเหนื่อยๆ หน้าซีด มีเสมหะมาก โดยอาจมีหรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้

 

การวินิจฉัยและการวินิจฉัยแยกโรค

แพทย์จะทำการวินิจฉัยแยกโรคตามอาการ โดยผู้ป่วยที่มีผื่นที่มือ อาจต้องแยกออกจากโรคผื่นแพ้ โรคอีสุกอีใส ผื่นจากเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ สำหรับโรคมือเท้าปากเปื่อย โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากอาการและอาการแสดง แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์อาจทำการส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมนี้ไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ได้แก่

  • การส่งตรวจตัวอย่างสิ่งคัดหลั่งและ/หรืออุจจาระเพื่อหาเชื้อไวรัส (ใช้เวลาประมาณ 1-7 วัน ขึ้นกับวิธีการตรวจ)

    • การตรวจหายีนของไวรัสด้วยวิธี polymerase chain reaction (PCR)
    • การเพาะเชื้อไวรัส (virus culture)

 

การรักษาโรคมือเท้าปากเปื่อย

นื่องจากในปัจจุบันโรคมือเท้าปากเปื่อยยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ การรักษาจึงเป็นการรักษาอาการทั่วๆ ไปตามแต่อาการของผู้ป่วย เช่น เจ็บคอมาก รับประทานอะไรไม่ได้ ผู้ป่วยดูเพลียจากการขาดอาหารและน้ำ ก็จะให้พยายามป้อนน้ำ นมและอาหารอ่อน ในรายที่เพลียมากอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด และ/หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนทางสมองและหัวใจ เป็นต้น

 

การป้องกันโรคมือเท้าปากเปื่อย

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปากเปื่อย สิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดี โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันโรคมือเท้าปากเปื่อย รวมถึงป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้โดย

  • หลีกเลี่ยงการให้เด็กคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย

  • รักษาอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้เลี้ยงดูเด็กเล็กควรล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทาน และรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด

  • ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ขวดนม

  • เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว

  • รีบซักผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ

  • หากเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปากเปื่อยให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมือเท้าปากเปื่อย ต้องให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย

 

ในกรณีที่มีการติดเชื้อโรคมือเท้าปากเปื่อยชนิดที่มีอาการรุนแรงโดยเฉพาะมีการเสียชีวิต เช่น เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 สถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาลอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการการป้องกันที่เข้มข้นขึ้น เช่น

  • การปิดทั้งโรงเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นต่างๆ

  • การคัดแยกเด็กป่วยออกตั้งแต่เดินเข้าที่หน้าประตูโรงเรียน

  • การหมั่นล้างมือ เช็ดถูทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นต่างๆ

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับลูกที่สุด จะต้องหมั่นสังเกตอาการ หากลูกมีอาการป่วยที่ผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที


แหล่งข้อมูล https://www.bumrungrad.com/th/children-pediatric-health-care-surgery-center-bangkok-thailand/conditions/hand-foot-mouth

เกล็ดความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร?

โรคพิษสุนัขบ้า”“โรคกลัวน้ำ”หรือ “โรคหมาว้อ”(ในภาษาอีสาน) เป็นโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจาก Rabies virusซึ่งเป็นเชื้อไวรัสก่อโรคในสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว วัว ควาย ลิง ชะนี กระรอก กระแต เสือ หมี หนู ค้างคาว รวมถึงคนด้วย ซึ่งในประเทศไทยพบมากที่สุดในสุนัข (96% ของจำนวนที่พบเชื้อจากการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ) รองลงมา คือ แมว  

“ หากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ใช่สุนัขกัดก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน “

   เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อสู่คนได้โดยการถูกสัตว์ที่เป็นโรค กัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล ซึ่งเชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในบริเวณแผลที่ถูกกัด หลังจากนั้นเชื้อจะเข้าสู่แขนงประสาท และระบบประสาทส่วนกลาง หากเชื้อเข้าสู่สมองและเพิ่มจำนวนขึ้นอีก ผู้ป่วยจะมีอาการคลุ้มคลั่ง ดุร้าย กระวนกระวาย และหากเชื้อเข้าสู่ไขสันหลังแล้วมีการเพิ่มจำนวนจะทำให้สมองและไขสันหลังทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยมีอาการอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด

   ระยะฟักตัวหลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายไปจนเกิดอาการ ใช้เวลาประมาณ 2 - 8 สัปดาห์ หรืออาจสั้นเพียง 5 วัน หรือยาวนานเกินกว่า  1  ปี  โดยระยะฟักตัวจะสั้นหรือยาวขึ้นกับปัจจัยบางอย่าง เช่น ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของแผล และระยะทางแผลไปยังสมอง เช่น แผลที่หน้า ศีรษะ คอ  หรือมือ อีกทั้งลักษณะของเครื่องนุ่งห่ม และ การล้างแผลจะมีส่วนช่วยลดจำนวนเชื้อลงได้มาก

   ในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่รักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ ซึ่งผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้านั้นมีอัตราการเสียชีวิต 100% แต่อย่างไรก็ดีโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร?

   วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้จากการนำเชื้อ Rabies virus ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงโดยวิธีการเฉพาะ ซึ่งเชื้อจะถูกทำให้ตายก่อนที่จะนำมาฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสามารถทำได้ 2 แบบ คือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular; IM)และฉีดเข้าในผิวหนัง (Intradermal; ID)

   วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่

   - Lyssavac N® (Purified Duck Embryo Cell Rabies Vaccine; PDEV) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในตัวอ่อนไข่เป็ดที่ฟักแล้ว (embryonated duck eggs)แนะนำให้ฉีดแบบ IM เท่านั้นมีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะเป็นสารแขวนตะกอนสีขาว ขุ่นเล็กน้อย เนื่องจากมี thimerosal เป็นสารกันเสีย ปริมาตรรวม 1 ml 

   - SII Rabivax® (Human Diploid Cell Rabies Vaccine; HDCV) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในhuman diploid cellแนะนำให้ฉีดแบบ IM เท่านั้นมีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส สีชมพู ปริมาตรรวม 1 ml

   - Rabipur® (Purified Chick Embryo Cell Rabies Vaccine; PCECV)เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสใน primary chick embryo fibroblast cell สามารถฉีดได้ทั้งแบบ IM และ ID มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส ไม่มีสี ปริมาตรรวม 1 ml

  - Verorab® (Purified Vero Cell Rabies Vaccine; PVRV)เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสใน vero cells สามารถฉีดได้ทั้งแบบ IM และ ID มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำเกลือสำหรับทำละลาย (solution of sodium chloride 0.4%) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส ไม่มีสี ปริมาตรรวม 0.5 ml

   วัคซีนทั้ง 4 ชนิดมีชื่อเรียกรวมๆ ว่า วัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งจะมีความปลอดภัยและมีความบริสุทธิ์มากกว่าวัคซีนแบบเก่าที่ผลิตจากการนำเชื้อ Rabies virus จากสมองสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ามาใช้ ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีการนำวัคซีนดังกล่าวมาใช้แล้ว

ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงเป็นอย่างไร ?

   ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของวัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงทั้ง 4 ชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทยมีความใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่โอกาสในการเป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็ยังมีอยู่หากได้รับเชื้อเป็นจำนวนมาก หรือถูกกัดบริเวณที่มีเส้นประสาทจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบว่าการป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนก่อนสัมผัสเชื้อจะมีประสิทธิผลที่ดีกว่าการฉีดวัคซีนหลังสัมผัสเชื้อ

   ผลข้างเคียงของวัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงเกิดขึ้นได้น้อยและไม่รุนแรงเหมือนวัคซีนที่ทำจากสมองสัตว์ ซึ่งผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบเซลล์เพาะเลี้ยงที่พบการรายงาน ได้แก่ ปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีดวัคซีน เช่น ปวด แดง ร้อน คัน หรือ ปฏิกิริยาทั่วไป เช่น ไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะหายเองเมื่อได้รับการรักษาตามอาการ ส่วนในเรื่องของการแพ้วัคซีนรุนแรงนั้นยังไม่พบการรายงานแต่อย่างใด พบแต่เพียงรายงานการเกิด serum sickness ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ข้ออักเสบ ปวดข้อ และพบผื่นที่ผิวหนัง  นอกจากนี้ยังพบรายงานการเกิดลมพิษที่ไม่รุนแรงจากการได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำบ่อยๆ ได้เช่นกัน

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

   การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. การฉีดวัคซีนก่อนการสัมผัสสัตว์(prophylaxis) มักจะทำในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกสัตว์กัด เช่น สัตวแพทย์ บุรุษไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า หรือเด็ก เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเช่นกัน

การฉีดวัคซีน จะต้องฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันที่ 0, 7 และ 21 หรือ 28 หลังจากนั้นอีก 1 ปีอาจฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้งเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงกว่าระดับที่ป้องกันโรคได้เป็นระยะเวลานาน (หมายเหตุ: วันที่ 0 หมายถึง วันที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก)

  1. การฉีดวัคซีนหลังการสัมผัสสัตว์  จะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยเสมอ โดยอาจแบ่งเป็นกรณีได้ดังนี้

2.1 ไม่ต้องฉีดวัคซีนในกรณีที่สัมผัสกับสัตว์โดยที่ผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก เช่น การให้อาหาร ถูกเลีย สัมผัสน้ำลายหรือเลือด (ยกเว้น น้ำลายหรือเลือดของสัตว์กระเด็นเข้าทางตา หรือปากจะต้องรับการฉีดวัคซีน)

2.2 ต้องฉีดวัคซีนในกรณีที่

2.2.1 ถูกงับเป็นรอยช้ำที่ผิวหนัง ไม่มีเลือดออก

2.2.2 ถูกเลีย หรือ น้ำลายถูกผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือมีแผล

2.2.3 ถูกข่วนที่ผิวหนังโดยไม่มีเลือดออกหรือออกซิบๆ

2.2.4 ถูกกัดหรือข่วนเป็นแผล (แผลเดียวหรือหลายแผล) และมีเลือดออก

2.2.5 มีน้ำลายหรือสารคัดหลั่ง (เช่น เลือด) จากร่างกายสัตว์ ซากสัตว์ เนื้อสมองสัตว์ รวมถึงการชำแหละหรือลองผิวหนังสัตว์ ถูกเยื่อบุตา ปาก จมูกหรือแผลตามผิวหนัง

ในการเข้ารับการฉีดวัคซีนนั้นสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) ในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่น สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลรัฐบาลที่ใกล้ที่สุด (ที่ใดก็ได้) ทันที จนครบทุกเข็มโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ใดๆ

ในกรณีที่ต้องฉีดวัคซีนหลังสัมผัสสัตว์ จะพิจารณาจำนวนครั้งของการฉีดวัคซีนตามประวัติของการได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ

  1. ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนเลย หรือเคยฉีดมาแล้วแต่น้อยกว่า 3 เข็ม
  2. ในกรณีที่เลือกวัคซีนชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ต้นแขนจะต้องได้รับการฉีด
  3. 5 ครั้ง  ครั้งละ 1 โด๊ส*ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 28  หรือ
  4. กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยแนะนำให้เลือกฉีดวิธีที่ 1.1.1, 1.2.1 และ 1.2.2 เท่านั้น

    3 ครั้งในวันที่ 0, 7 และ 28 โดยวันที่ 0 จะได้รับการฉีด 2 โด๊ส* และอีกสองครั้งที่เหลือฉีดครั้งละ 1 โด๊ส*

*  หมายเหตุ:1 โด๊ส จะใช้วัคซีนปริมาตร 1 ml สำหรับ HDCV, PCECVและ PDEV หรือ0.5 ml สำหรับ PVRV

  • ในกรณีที่เลือกวัคซีนชนิดฉีดเข้า ในผิวหนัง บริเวณต้นแขน จะต้องได้รับการฉีด
  • 4 ครั้งในวันที่ 0, 3, 7 และ 28 โดยแต่ละครั้งจะต้องฉีด 2 จุด จุดละ 0.1 มล. (ต้นแขนด้านซ้ายและขวา) หรือ
  • 5ครั้งในวันที่ 0, 3, 7,28 และ 90 โดยสามครั้งแรกฉีดครั้งละ 2 จุด  และ สองครั้งที่เหลือฉีดอีกครั้งละ 1 จุด จุดละ 0.1 มล. หรือ
  • 4 ครั้งในวันที่ 0, 7, 28 และ 90โดยครั้งแรกฉีดทั้งหมด 8 จุด ครั้งที่สอง 4 จุด และสองครั้งที่เหลืออีกครั้งละ 1 จุดจุดละ 0.1 มล.

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่ถูกสัตว์กัด หรือข่วนจนเป็นแผลและมีเลือดออก หรือถูกกัดเป็นแผลที่ใบหน้า ศีรษะ คอ มือ และนิ้วมือ หรือมีแผลลึก แผลฉีกขาดมาก จะต้องได้รับการฉีดอิมมูโนโกลบุลิน(Immunoglobulin; IG) โดยเร็วที่สุด โดยฉีดบริเวณรอบแผลร่วมกับวัคซีนในวันที่ 0 เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้เป็นกลุ่มมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูง  

อิมมูโนโกลบุลินเป็นโปรตีนในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

อิมมูโนโกลบุลินสามารถผลิตได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ม้า(Equine Rabies Immunoglobulin; ERIG)หรือคน (Human Rabies Immunoglobulin; HRIG)และฉีดกระตุ้นจนกระทั่งมีแอนติบอดีอยู่ในระดับสูงพอ จึงเจาะเลือดมาแยกซีรั่มผลิตเป็นอิมมูโนโกลบุลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอิมมูโนโกลบุลินที่ได้จากม้าจะมีโอกาสทำให้เกิดอาการแพ้ได้มากกว่าอิมมูโนโกลบุลินที่ได้จากคน

ส่วนผู้ที่ถูกน้ำลายหรือสารคัดหลั่ง (เช่น เลือด) จากร่างกายสัตว์ ซากสัตว์ เนื้อสมองสัตว์ กระเด็นเข้าสู่เยื่อบุตา ปาก จมูกหรือแผลตามผิวหนัง และผู้ชำแหละซากสัตว์หรือลอกหนังสัตว์จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาว่าจะต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลินหรือไม่ ตามความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นรายๆ ไป

  1. เคยฉีดมาแล้วอย่างน้อย  3 เข็ม (วันที่ฉีดเข็มสุดท้ายผ่านมาเกิน 6 เดือนแล้ว)

ในกรณีนี้ไม่ว่าจะเลือกฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขนหรือในผิวหนังบริเวณต้นแขน จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้งเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้นกัน ในวันที่ 0 และ 3โดยไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลิน

  1. เคยฉีดมาแล้วอย่างน้อย 3 เข็ม (วันที่ฉีดเข็มสุดท้ายผ่านมาไม่เกิน 6 เดือน)

ในกรณีนี้ไม่ว่าจะเลือกฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขนหรือในผิวหนังบริเวณต้นแขน จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้นกันเพียงครั้งเดียว ในวันที่ 0 เท่านั้น

โดยไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลิน

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อถูกสุนัข แมวหรือสัตว์อื่นๆ กัด?

   เมื่อถูกสัตว์ข่วนหรือกัดโดยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าควรรีบปฐมพยาบาลและปฏิบัติตัวดังนี้

  1. ล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่หลายๆ ครั้ง ล้างสบู่ออกให้หมด ถ้าแผลลึกให้ล้างถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที ระวังอย่าให้แผลช้ำ ห้ามใช้ครีมใดๆ ทา ถ้ามีเลือดออกควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบหรือเค้นแผล เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปส่วนอื่น
  2. เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ควรใช้โพวีโดนไอโอดีน (povidone iodine) หรือฮิบิเทนในน้ำ (hibitane in water) ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน นอกจากนี้ไม่ควรปิดปากแผลยกเว้นว่าเลือดออกมากหรือแผลใหญ่มาก
  3. ไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดทันที หรือ เร็วที่สุด เพื่อรับการฉีดป้องกันบาดทะยัก ยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดตามอาการ รวมถึงวัคซีนหรืออิมมูโนโกลบุลินตามความเหมาะสม
  4. กักสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการอย่างน้อย 15 วัน โดยให้น้ำและอาหารตามปกติ อย่าฆ่าสัตว์ให้ตายทันที เว้นแต่สัตว์นั้นดุร้ายกัดคนหรือสัตว์อื่นหรือไม่สามารถกัดสัตว์ไว้ได้ ถ้าสัตว์หนีหายไปให้ถือว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
  5. หากสัตว์มีอาการปกติตลอดระยะเวลาที่กักเพื่อดูอาการ สามารถหยุดฉีดวัคซีนได้

วิธีการส่งซากสัตว์และสถานที่สำหรับส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศ 

สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของกองควบคุมโรคระบาด กรมปศุสัตว์ ที่ 

http://www.dld.go.th/inform/rabies/framdog.html

ลืมมาฉีดวัคซีนตามกำหนดนัดหมายไปเป็นอะไรไหม?

   การเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนดจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุด อย่างไรก็ดีหากลืมหรือไม่สามารถมาตามกำหนดวันนัดหมาย ก็ควรรีบมารับการฉีดวัคซีนต่อจนครบให้เร็วที่สุด (ข้อมูลในปัจจุบันระบุว่าการฉีดวัคซีนล่าช้ากว่ากำหนดไป 2-3 วัน จะไม่ส่งผลถึงประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าช้าเกินกว่านี้ยังไม่พบข้อมูลการรับรองประสิทธิภาพ)

หญิงตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้หรือไม่ 

   หญิงตั้งครรภ์ไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนเนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อตาย และอิมมูโนโกลบุลินก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์เช่นกัน

สามารถเปลี่ยนยี่ห้อวัคซีน หรือเปลี่ยนวิธีการฉีดได้หรือไม่ ?

   วัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงที่ใช้อยู่ในประเทศไทยขณะนี้ มีคุณภาพประสิทธิภาพและความปลอดภัยใกล้เคียงกัน ในการฉีดเข้ากล้ามเนื้อสามารถใช้ทดแทนกันได้ทุกยี่ห้อ แต่ชนิดที่ฉีดเข้าในผิวหนังนั้นอาจต้องระมัดระวังเนื่องจากบางยี่ห้อไม่แนะนำให้ฉีดเข้าในผิวหนังดังนั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยควรมีสมุดบันทึกการฉีดวัคซีนที่ระบุทั้งชื่อยี่ห้อวัคซีนและวิธีฉีดวัคซีนไว้ด้วยเสมอ

   การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรฉีดวิธีเดียวกันตลอดจนครบชุดไม่ควรเปลี่ยนวิธีการฉีดสลับไปมา

 

แหล่งข้อมูล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/12/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99/

เผย 7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ ที่ควรรู้เอาไว้ เพื่อสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี

เผย 7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ ที่ควรรู้เอาไว้ เพื่อสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี

          ในปัจจุบันนี้โรคภัยกลายเป็นสิ่งใกล้ตัวที่คอยถามหาเราอยู่เสมอ เราจึงต้องดูแลสุขภาพกันให้ดีเป็นพิเศษ บางคนอาจจะสรรหาอาหารเสริมหรืออาหารบำรุงต่าง ๆ เพื่อบำรุงให้มีสุขภาพที่ดี ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วการมีสุขภาพดีอาจเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด อย่างที่เว็บไซต์ allwomenstalk.com นำเอาเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพที่ดีมากฝากกัน อยากมีสุขภาพที่ดีต้องอ่านเลยล่ะค่ะ
 

7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ


  กล้วย ช่วยลดอาการท้องอืดได้

          ก่อนที่จะไปดูกันว่ากล้วยช่วยลดอาการท้องอืดได้อย่างไร เรามารู้จักกับอาการท้องอืดกันก่อน ท้องอืดเป็นอาการที่เกิดแก๊สจำนวนมากในกระเพาะอาหาร บางครั้งก็เกิดจากการรับประทานโซเดียมมากเกิน และเจ้ากล้วยนี่ล่ะค่ะที่จะช่วยทำให้อาการท้องอืดบรรเทาลงได้ เพราะกล้วยมีปริมาณโพแทสเซียมสูง ซึ่งจะไปจัดการกับผลกระทบที่เกิดจากโซเดียมส่วนเกินทำให้อาหารท้องอืดเบาบางลง แต่ถ้าคุณไม่อยากท้องอืดละก็ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมมากเกินไปตั้งแต่แรกจะดีกว่า จะได้ไม่ต้องมานั่งอึดอัดไงล่ะ

 น้ำในร่างกายจะทำให้น้ำหนักตัวของคุณจะขึ้นลงอย่างน้อยวันละ 1 - 2 กิโลกรัม

          คุณเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่าทำไมเวลาที่ชั่งน้ำหนักในตอนเช้าและตอนเย็นถึงต่างกัน ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้กินเยอะมากมาย แต่นั่นก็เป็นเพราะน้ำหนักของน้ำในร่างกายที่มาจากอาหารที่มีรสเค็มหรือภาวะมีประจำเดือนของคุณที่ทำให้น้ำหนักเหล่านี้ขึ้นหรือลงตลอดเวลา แต่ถ้าหากคุณต้องการที่จะจัดการกับเจ้าน้ำหนักของน้ำที่มีในร่างกายละก็ คุณควรจะไปปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาขับปัสสาวะก็ได้ค่ะ

7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ


 การนั่งอยู่กับที่มากกว่าวันละ 11 ชั่วโมงทำให้อายุสั้นลง

          การนั่งทำงานอยู่กับโต๊ะตลอดเวลาโดยไม่ลุกไปไหนทั้งวันอาจจะทำให้คุณอายุสั้นลงโดยที่ไม่รู้ตัว นั่นก็เป็นเพราะว่าเมื่อร่างกายของเราไม่ได้ขยับเขยื้อนไปไหนเลยก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบเผาผลาญ ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย หรือแม้แต่ระบบไหลเวียนเลือด ดังนั้นถ้าอยากจะมีอาุยที่ยืนยาว ก็หมั่นลุกจากโต๊ะทำงานบ้างนะคะ แค่เพียงลุกไปเข้าห้องน้ำก็ช่วยได้มาก หรือถ้าไม่อยากลุกก็ลองยืดเส้นยืดสายที่โต๊ะทำงานดูนะคะ ก็ช่วยได้เหมือนกันค่ะ

ชาเขียวช่วยสร้างเสริมการทำงานของสมองได้

          เรารู้กันดีว่าชาเขียวมีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะเจ้าชาเขียวนี่มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่สูง จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ แต่อีกประโยชน์หนึ่งที่สำคัญก็คือ ชาเขียวช่วยสร้างเสริมการทำงานของสมองได้อีกด้วย โดยมีการศึกษาหนึ่งพบว่าคนที่ดื่มชาเขียวเป็นประจำจะช่วยทำให้มีความจำดีกว่าผู้ที่ไม่เคยดื่มเลย ได้รู้แบบนี้แล้วก็รีบหาชาเขียวมาดื่มดีกว่านะคะ

7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ


น้ำตาล ทำให้อาการช่วงมีประจำเดือนเลวร้ายลง

          หลายคนมักคิดว่าการรับประทานของหวานในช่วงมีประจำเดือนจะช่วยให้อาการต่าง ๆ ที่เกิดในช่วงมีประจำเดือนลดลง แต่ที่จริงแล้วมันนี่ล่ะตัวร้ายที่ทำให้อาการเหล่านั้นยิ่งแย่ลง เพราะการรับประทานน้ำตาลมากเกินไปจะไปทำให้แมกนีเซียมในร่างกายลดลง ทำให้ท้องอืด ซึ่งท้องอืดเป็นอาการที่คุณคงไม่อยากจะเป็นในช่วงมีประจำเดือนแน่ ๆ ดังนั้นถ้ามีประจำเดือน เปลี่ยนจากของหวานมาทานของว่างที่ดีต่อสุขภาพอย่างเช่นผลไม้จะดีกว่านะคะ

ข้าวโอ๊ตช่วยให้อารมณ์ดี

          เชื่อว่าใคร ๆ ก็คงอยากจะมีเช้าและวันทำงานที่สดใสใช่ไหมคะ อยากจะบอกว่าข้าวโอ๊ตช่วยได้ค่ะ เพราะข้าวโอ๊ตนั้นจะไปช่วยเพิ่มระดับของเซโรโทนิน (Serotonin) ในสมอง ซึ่งสารชนิดนี้เป็นสารที่ช่วยทำให้อารมณ์ดีได้ค่ะ ฉะนั้นมื้อเช้าครั้งหน้าลองหาข้าวโอ๊ตมารับประทานเป็นอาหารเช้านะคะ

7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ


 การออกกำลังกายตั้งแต่วัยรุ่นจะช่วยให้มีความจำดีเมื่อแก่ตัวลง

          การเริ่มออกกำลังกายตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว นอกจากจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงสืบไปจนถึงอนาคตแล้ว ก็ยังเป็นผลดีต่อสมองอีกด้วย เพราะมีการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายเป็นประจำในช่วงอายุ 20 ปีเป็นต้นไปจะช่วยให้มีความจำที่ดีแม้วัยจะล่วงเลยไปถึง 40 หรือ 50 ขึ้นไปแล้วก็ตาม 

          สุขภาพร่างกายของเราเป็นสิ่งที่สำคัญ หากเราดูแลรักษามันอย่างดีก็จะช่วยให้สุขภาพจิตใจของคุณดีตามไปด้วย แต่ถ้าหากคุณปล่อยปละละเลยมันก็อาจจะทำให้ทั้งกายและใจของคุณแย่ลง หลังจากนั้นโรคภัยต่าง ๆ ก็จะถามหา ดังนั้นก่อนที่จะต้องเสียเงิน และเสียเวลาไปกับโรคภัยเหล่านั้น ก็ควรหันกลับมารักสุขภาพตนเองมาก ๆ นะคะ


แหล่งข้อมูล www.kapook.com

IMAGE โครงการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568
Monday, 20 January 2025
โครงการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี... Read More...
IMAGE โครงการแข่งขันกีฬาต้านยาเสพติดตำบลห้วยสำราญ ประจำปีงบประมาณ 2568
Monday, 20 January 2025
โครงการแข่งขันกีฬาต้านยาเสพติดตำบลห้วยสำราญ... Read More...
IMAGE องค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace) ประจำปีงบประมาณ 2566
Friday, 14 June 2024
รายงานผลการดำเนินงานองค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace)... Read More...
IMAGE การขับเคลื่อนจริยธรรม
Wednesday, 03 April 2024
  กิจกรรมส่งเสริมจริยธรรม                 ... Read More...
IMAGE RE-X-RAY
Tuesday, 27 February 2024
                           ... Read More...

มุมผู้สูงอายุ