Get Adobe Flash player

ปลัด อบต.

PLa1

แบบสำรวจ

อบต.บริการเป็นอย่างไร

ดีมาก - 81.8%
ดี - 18.2%
พอใช้ - 0%
ควรปรับปรุง - 0%

Total votes: 11
The voting for this poll has ended on: 30 Oct 2015 - 08:42

เข้าสู่ระบบ

สถิติผู้เยี่ยมชม

2404996
วันนี้
เมื่อวาน
อาทิตย์นี้
อาทิตย์ที่แล้ว
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
รวม
254
1248
5396
2394477
8119
14530
2404996

Your IP: 18.118.144.6
Server Time: 2024-05-11 13:47:58

facebook

ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก

 

ไข้เลือดออก

 

          ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากยุงซึ่งเป็นพาหะของโรค ไข้เลือดออกนอกจากจะเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้น และก่อให้เกิดความกังวลต่อผู้ปกครองเวลาเด็กมีไข้ และมักพบบ่อยในเด็กต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะช่วงอายุ 2-8 ขวบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่จะไม่มีโอกาสเป็นโรคไข้เลือดออกได้ โดยเฉพาะต้องอาศัยอยู่ในแหล่งที่ชุกชุมไปด้วยยุงตัวร้าย 

 โรคไข้เลือดออกต้องระวังยุงชนิดไหน

          ยุงลายเป็นพาหะตัวร้ายของโรคไข้เลือดออก ทางที่ดีที่จะป้องกันโรคไข้เลือดออกในเบื้องต้น คือการป้องกันตัวเองและคนรอบข้างไม่ให้โดนยุงกัด โดยเฉพาะยุงลาย ถ้ากำจัดลูกน้ำยุงลายบริเวณรอบ ๆ บ้านได้จะยิ่งดี

 ยุงลายชอบกัดตอนไหน ช่วงไหนควรระวังพาหะไข้เลือดออก

          ยุงลายที่กัดเราแล้วจะทำให้เป็นโรคไข้เลือดออกมีเฉพาะยุงลายตัวเมียเท่านั้น เพราะยุงลายตัวเมียต้องการโปรตีนจากเลือดเพื่อสร้างไข่ และมักจะออกหาเหยื่อในช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน ฉะนั้นช่วงกลางวันจึงเป็นช่วงเวลาอันตรายที่ต้องเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัดมากที่สุด แต่ทั้งนี้ช่วงเวลาไหน ๆ ก็อย่ายอมให้ยุงมาดูดเลือดเลยน่าจะปลอดภัยกว่า

           ยุงกัดเพราะอะไร ระวังไว้ ก่อนป่วยไข้เลือดออก !

           มาดูกัน...ยุงชอบกัดคนประเภทไหน

ไข้เลือดออก


 อาการของ ไข้เลือดออก

          อาการของ ไข้เลือดออก ไม่จำเพาะอาการมีได้หลายอย่าง ในเด็กอาจจะมีเพียงอาการไข้และผื่น ในผู้ใหญ่ที่เป็น ไข้เลือดออก อาจจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ หากไม่คิดว่าเป็น โรค ไข้เลือดออก อาจจะทำให้การรักษาช้า ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิต ทั้งนี้ลักษณะที่สำคัญของ ไข้เลือดออก มีอาการสำคัญ 4 ประการคือ 

          1. ไข้สูงลอย : ไข้ 39-40 องศาเซลเซียส มักมีหน้าแดง โดยมากไม่ค่อยมีอาการน้ำมูกไหลหรือไอ เด็กโตอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว และปวดศีรษะ อาการไข้สูงมักมีระยะ 4-5 วัน 

          2. อาการเลือดออก : เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในกระเพาะ โดยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ มีจุดเลือดออกตามตัว 

          3. ตับโต 

          4. ความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด หรือช็อก  :  มักจะเกิดช่วงไข้จะลด โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รอบปากเขียว อาจมีอาการปวดท้องมาก ก่อนจะมีอาการช็อก ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ 

 ตับอักเสบจากไข้เลือดออก อีกหนึ่งอาการที่ต้องระวัง

          อาการตับอักเสบอย่างรุนแรง สามารถพบได้ในผู้ป่วยไข้เลือดออกเช่นกัน โดยจะเกิดขึ้นกรณีที่เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายตับ หรือเกิดจากการที่ตับถูกทำลายเพราะการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นหากมีอาการไข้เลือดออกแล้วก็ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดหากเกิดอาการตับอักเสบจะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที


 ลักษณะตุ่มไข้เลือดออก

          ตุ่มโรคไข้เลือดออกจะคล้ายกับตุ่มยุงกัดทั่วตัว และใกล้เคียงกับผื่นจากโรคหัด แต่จะสังเกตได้ว่า ถ้าเป็นไข้เลือดออกจะไม่มีอาการไอหรือน้ำมูกไหล และจุดเลือดออกของโรคไข้เลือดออกจะไม่รู้สึกสากมือเหมือนโรคหัด และเวลากดดึงผิวหนังให้ตึงจะไม่จางหายไปเหมือนจุดถูกยุงกัดธรรมดา ซึ่งถ้ามีอาการตามนี้ร่วมกับมีไข้สูงตลอดเวลา ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน

 ไข้เลือดออกมีกี่ระยะ

          ระยะฟักตัวของไข้เลือดออกจะอยู่ในช่วง 3-5 วัน และอาการไข้เลือดออกสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

 ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง

          ผู้ป่วยจะมีไข้สูงฉับพลัน ไข้จะสูงค้างอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา โดยที่กินยาลดไข้ก็ยังบรรเทาไข้ไม่ได้ ร่วมกับอาการหน้าแดง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และบางรายมีอาการอาเจียนเป็นพัก ๆ หรืออาจมีอาการท้องผูกหรือถ่ายเหลว และบางคนอาจมีอาการเจ็บคอ ไอเล็กน้อย ทว่าในระยะ 3 วันที่ป่วยตุ่มอาจยังไม่ขึ้นให้เห็นชัด ๆ

 ระยะที่ 2 ระยะช็อกและมีเลือดออก

          อาการนี้จะพบในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ของการป่วย และมักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ป่วยจากเชื้อเด็งกีที่มีความรุนแรงขั้นที่ 3 และ 4 ซึ่งระยะนี้ถือเป็นช่วงวิกฤตของโรค อาการไข้ของผู้ป่วยจะเริ่มลดลง แต่กลับอาเจียน ปวดท้องบ่อยขึ้น ซึมมากขึ้น ตัวเย็น มือเท้าเย็น กระสับกระส่าย เหงื่อแตก ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นแผ่วแต่เร็ว และความดันต่ำ ซึ่งเป็นภาวะช็อก และหากไม่ได้รับการรักษาภายใน 1-2 วัน อาจทำให้เสียชีวิตได้

          นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออกตามผิวหนัง (มีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้น) เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดหรือสีกาแฟ ถ่ายเป็นเลือด ซึ่งหากอยู่ในภาวะนี้อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น โดยหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเสียชีวิตภายใน 24-27 ชั่วโมง แต่หากผู้ป่วยสามารถประคองอาการให้ผ่านพ้นระยะนี้มาได้ ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรคไข้เลือดออก

 ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว

          ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการช็อก หรือช็อกไม่รุนแรง และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาการของผู้ป่วยจะฟื้นตัวสู่สภาพปกติ โดยผู้ป่วยจะรู้สึกตัวและร่าเริงขึ้น เริ่มกินอาหารได้ โดยอาการจะดีขึ้นตามลำดับภายในช่วงระยะ 7-10 วันหลังจากผ่านพ้นระยะที่ 2 ของโรค

 การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกในเบื้องต้นอย่างง่าย ๆ 

          ใช้ยางหนังสติ๊กรัดเหนือข้อศอกให้แน่นเล็กน้อย ให้พอคลำชีพจรที่ข้อมือได้ รัดอยู่อย่างนั้นนาน 5 นาที และลองเอาเหรียญบาทกดทับที่บริเวณท้องแขน หากพบว่ามีจุดเลือดออก (จุดแดง) เกิดขึ้นที่บริเวณท้องแขนในตําแหน่งที่ใช้เหรียญกดทับเป็นจํานวนมากกว่า 10 จุด ก็นับว่าเสี่ยงเป็นโรคไข้เลือดออกสูงมาก ยิ่งถ้าหากมีไข้มาแล้ว 2 วัน ความเสี่ยงของโรคจะอยู่ประมาณ 80% เลยทีเดียว

 เมื่อใดต้องรีบส่งโรงพยาบาลทันที

          เมื่อมีเลือดออกผิดปกติ อาเจียนมาก ปวดท้อง ซึม ไม่ดื่มน้ำ กระหายน้ำตลอดเวลา มีปัสสาวะออกน้อย

          เมื่อความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ตัวลาย เหงื่อออกโดยเฉพาะในช่วงไข้ลง

ไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก


 แนวทางการรักษาโรค ไข้เลือดออก

           โรคไข้เลือดออก ไม่มีการรักษาเฉพาะ การรักษาเป็นเพียงการประคับประคองอย่างใกล้ชิดโดยการเฝ้าระวังภาวะช็อก และเลือดออก และการให้สารน้ำอย่างเหมาะสมก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง โดยทั่วไปการดูแลผู้ป่วยโรค ไข้เลือดออก มีแนวทางการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนี้ 

          1. ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ยาลดไข้ที่ควรใช้คือ พาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาจำพวกแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้เกล็ดเลือดผิดปกติ และระคายกระเพาะอาหาร 

          2. ให้สารน้ำชดเชย เนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออก มักมีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ในรายที่พอทานได้ให้ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ ในรายที่ขาดน้ำมาก หรือมีภาวะเลือดออก เช่น อาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือดต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำทางเส้นเลือด 

          3. ติดตามดูอาการใกล้ชิด ถ้าผู้ป่วยไข้เลือดออกมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น โดยเฉพาะในช่วงไข้ลด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที 

          4. ตรวจนับจำนวนเกล็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะ เพื่อใช้พิจารณาปริมาณการให้สารน้ำชดเชย 

 จะทราบได้อย่างไรว่าผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายแล้ว

          ผู้ป่วยไข้เลือดออก หากมีอาการไข้ลดลง ภายใน 24-48 ชั่วโมง แล้วเริ่มกินอะไรได้ รู้สึกตัวดี ไม่ซึม แสดงว่าอาการพ้นขีดอันตรายแล้ว  

 การปฏิบัติเมื่อมีคนในบ้าน/ข้างบ้านเป็น ไข้เลือดออก 

          เนื่องจากไข้เลือดออกระบาดโดยมียุงเป็นตัวแพร่พันธุ์ ดังนั้นเมื่อมีคนในบ้านหรือข้างบ้านเป็นไข้เลือดออก ควรจะบอกคนในบ้านหรือข้างบ้านว่า มีคนเป็นไข้เลือดออกด้วย และแจ้งสาธารณสุขให้มาฉีดยาหมอกควันเพื่อฆ่ายุง รวมถึงดูแลให้สมาชิกในครอบครัวป้องกันการถูกยุงกัด สำรวจภายในบ้าน รอบบ้าน รวมทั้งเพื่อนบ้านว่ามีแหล่งแพร่พันธุ์ยุงหรือไม่ หากมีให้รีบจัดการและทำลายแหล่งแพร่พันธุ์นั้น เพื่อป้องกันการเป็นไข้เลือดออก

          นอกจากนี้ต้องคอยระวังเฝ้าดูอาการของสมาชิกในบ้านหรือข้างบ้านว่ามีไข้หรือไม่ หากมีไข้ให้ระวังว่าอาจจะเป็น ไข้เลือดออกได้

 โรคไข้เลือดออก กับยาที่ควรหลีกเลี่ยง

          ในการรักษาของผู้ป่วยไข้เลือดออกควรจะใช้ยาพาราเซตามอลในการรักษาเท่านั้น และห้ามรับประทานยาในกลุ่มแอสไพริน ซึ่งได้แก่ยาแอสไพรินชนิดเม็ด หรือยาแอสไพรินแบบซองที่ขายทั่วไป และยาในกลุ่มไอบูโปรเฟน เนื่องจากยาทั้งสองชนิดนี้เป็นยาที่มีผลข้างเคียงรุนแรง คืออาจไปกัดกระเพาะทำให้เกิดเลือดออกในกระเพาะหรือลำไส้ ซึ่งทำให้เป็นอันตรายกับผู้ป่วยได้


 อาหารสำหรับผู้ป่วยไข้เลือดออก เป็นแล้วควรกินอะไร

          ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสและฟื้นฟูร่างกายได้รวดเร็ว โดยอาหารที่ควรรับประทานคือ ผักใบเขียว ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น มะนาว ส้ม เลมอน หรือเกรปฟรุต เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น และควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงด้วย เพื่อให้มีเรี่ยวแรงและสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดี 

          นอกจากนี้อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก น้ำผัก หรือน้ำผลไม้ แต่ทั้งนี้ที่สำคัญที่สุดก็คือการดื่มน้ำ เพราะการดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยให้ร่างกายขับสารพิษออกมาได้มากขึ้นนั่นเอง

 ไข้เลือดออกห้ามกินอะไรบ้าง รู้แล้ว เลี่ยงให้ไกล

          นอกจากจะควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ แล้ว ผู้ป่วยไข้เลือดออกนั้นก็ควรจะหลีกเลี่ยงอาหารมัน ๆ ประเภทอาหารทอด หรือผัด และไม่ควรรับประทานอาหารรสเผ็ดเพราะอาจจะทำให้แสบท้องและเกิดเลือดออกในกระเพาะได้ง่าย นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีแดง สีดำ หรือสีน้ำตาล เพราะสีของอาหารอาจจะทำให้การสังเกตอาการเลือดออกในปัสสาวะและอุจจาระเป็นไปได้ยากขึ้นอีกด้วย


 เป็นไข้เลือดออกแล้วมีสิทธิ์เป็นซ้ำอีกได้ไหม

          เนื่องจากไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 1, 2, 3 และ 4 ซึ่งในแต่ละปีจะมีการระบาดของสายพันธุ์ต่าง ๆ สลับกันไป หากผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ใดไปแล้ว ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นตลอดชีวิต และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันข้ามไปยังสายพันธุ์อื่นได้ระยะหนึ่ง ก่อนภูมิคุ้มกันในสายพันธุ์อื่นจะหายไป ดังนั้น ผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วก็ยังสามารถกลับมาเป็นได้อีกในสายพันธุ์ที่ต่างจากที่เคยเป็น แต่ทว่า การติดเชื้อครั้งที่ 2 มักจะมีอาการรุนแรงกว่าการป่วยครั้งแรก แต่โดยส่วนใหญ่แล้วคนเรามักติดเชื้อไม่เกิน 2 ครั้ง

 การป้องกันโรค ไข้เลือดออก 

          ทุกวันนี้ยังไม่มียาที่ใช้รักษา ไข้เลือดออก ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดโดยป้องกันการแพร่ของยุง  

          15 วิธีป้องกันยุงกัดส่งตรงจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี

 

ยุงลาย
ยุงลาย พาหะนำโรคไข้เลือดออก


 การควบคุมสิ่งแวดล้อม Environmental management 

          การควบคุมสิ่งแวดล้อมเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้ยุงมีการขยายพันธุ์ 

          แท็งก์น้ำ บ่อ กะละมัง ที่เก็บกักน้ำจะเป็นแหล่งที่ยุงออกไข่และกลายเป็นยุง ต้องมีฝาปิดและหมั่นตรวจสอบว่ามีลูกน้ำหรือไม่ 

          ให้ตรวจรอยรั่วของท่อน้ำ แท็งก์น้ำหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับน้ำว่ารั่วหรือไม่ โดยเฉพาะฤดูฝน

          ตรวจสอบแจกัน ถ้วยรองขาโต๊ะ ต้องเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ สำหรับแจกันอาจจะใส่ทรายผสมลงไป ส่วยถ้วยรองขาโต๊ะให้ใส่เกลือเพื่อป้องกันลูกน้ำ 

          หมั่นตรวจสอบถาดรองน้ำที่ตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศเพราะเป็นที่แพร่พันธุ์ของยุง โดยเฉพาะถาดระบายน้ำของเครื่องปรับอากาศซึ่งออกแบบไม่ดี โดยรูระบายน้ำอยู่เหนือก้นถาดหลายเซนติเมตร ทำให้มีน้ำขังซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 

          ตรวจสอบรอบ ๆ บ้านว่ามีแหล่งน้ำขังหรือไม่ ท่อระบายน้ำบนหลังคามีแอ่งขังน้ำหรือไม่ หากมีต้องจัดการ

          ขวดน้ำ กระป๋อง หรือภาชนะอื่นที่อาจจะเก็บขังน้ำ หากไม่ใช้ให้ใส่ถุงหรือฝังดินเพื่อไม่ให้น้ำขัง 

          ยางเก่าที่ไม่ใช้ก็เป็นแหล่งขังน้ำได้เช่นกัน 

          หากใครมีรั้วไม้ หรือต้นไม้ที่มีรูกลวง ให้นำคอนกรีตเทใส่ปิดรู ต้นไผ่ต้องตัดตรงข้อและให้เทคอนกรีตปิดแอ่งน้ำ  

วิธีกำจัดลูกน้ำยุงลาย


 การป้องกันส่วนบุคคล 

          ใส่เสื้อผ้าที่หนาพอสมควร ควรจะใส่เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว เด็กนักเรียนหญิงก็ควรใส่กางเกง 

          การใช้ยาฆ่ายุง เช่น pyrethrum ก้อนสารเคมี 

          การใช้กลิ่นกันยุง เช่น ตะไคร้ หรือสารเคมีอื่น ๆ 

          นอนในมุ้ง

          การควบคุมยุงโดยทางชีวะ 

          เลี้ยงปลาในอ่างที่ปลูกต้นไม้ หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ 

          ใช้แบคทีเรียที่ผลิตสาร toxin ฆ่ายุง ได้แก่ เชื้อ Bacillus thuringiensis serotype H-14 (Bt.H-14) และ Bacillus sphaericus (Bs) 

          การใช้เครื่องมือดักจับลูกน้ำซึ่งเคยใช้ได้ผลที่สนามบินของสิงคโปร์ แต่สำหรับกรณีประเทศไทยยังได้ผลไม่ดีเนื่องจากไม่สามารถควบคุมแหล่งน้ำธรรมชาติจึงยังมีการแพร่พันธุ์ของยุง  

 

ฉีดสารเคมี ไข้เลือดออก


 การใช้สารเคมีในการควบคุม 

          ใช้ยาฆ่าลูกน้ำ วิธีการนี้จะสิ้นเปลืองและไม่เหมาะที่จะใช้อย่างต่อเนื่อง วิธีการนี้จะเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดและได้มีการสำรวจพบว่ามีความชุกของยุงมากกว่าปกติ

          ใช้สารลดแรงตึงผิว เช่น ผงซักฟอก สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน ฉีดพ่นกำจัดยุง เพราะสารดังกล่าวจะไปทำลายระบบการหายใจของแมลง ทำให้แมลงตายได้ 

          ใช้ "ทรายอะเบท" กำจัดยุงลาย โดยให้นำทรายอะเบท 1 กรัม ใส่ในภาชนะที่มีน้ำขัง (อัตราส่วน 1 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร หรือ 20 กรัม) จะป้องกันไม่ให้เกิดลูกน้ำได้นานประมาณ 1-2 เดือนเลยทีเดียว ซึ่งหลังจากใช้เสร็จแล้วต้องเก็บในภาชนะบรรจุที่ปิดมิดชิด รวมทั้งเก็บในที่เย็น แห้ง และมีการระบายอากาศอย่างเพียงพอ

          การใช้สารเคมีพ่นตามบ้านเพื่อฆ่ายุง วิธีการนี้ใช้ในประเทศเอเชียหลายประเทศมามากกว่า 20 ปี แต่จากสถิติของการระบาดไม่ได้ลดลงเลย การพ่นหมอกควันเป็นรูปธรรมที่มองเห็นว่ารัฐบาลได้ทำอะไรเกี่ยวกับการระบาด แต่การพ่นหมอกควันไม่ได้ลดจำนวนประชากรของยุง ข้อเสียคือทำให้คนละเลยความปลอดภัย การพ่นหมอกควันจะมีประโยชน์ในกรณีที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก

 การระบาดของไข้เลือดออก

          ช่วงเวลาการระบาดของโรคไข้เลือดออกสามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะระบาดมากในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมของทุกปี

 สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออก

          จากข้อมูลทางกระทรวงสาธารณสุขเผยว่า 8 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมกราคม-18 สิงหาคม 2558 มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 51,500 ราย มากกว่าปี 2557 ถึง 2 เท่า และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 37 ราย โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในภาคกลาง รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ส่วนใหญ่พบในกลุ่มเด็กโต อายุระหว่าง 10-14 ปี โดยสาเหตุร้อยละ 80 เกิดจากถูกยุงลายที่อยู่ในบ้านกัด และส่วนที่เหลือคือถูกยุงลายที่อยู่ตามสวนกัด

 

แหล่งข้อมูล: http://health.kapook.com/view2522.html

โรคกระเพาะอาหาร และ โรคกรดไหลย้อน ความเหมือนที่แตกต่าง

โรคกระเพาะอาหาร และ โรคกรดไหลย้อน ความเหมือนที่แตกต่าง

ในภาวะสังคมที่เร่งรีบ กับชีวิตประจำวันที่ เคร่งเครียดวุ่นวาย ทำให้กิจกรรมทุกอย่างต้องผันไปตามตัวแปรของเวลา จนบางครั้ง กระทบถึงการทานอาหาร ทำให้ทานอาหารไม่เป็นเวลา กว่าจะได้ทานมื้ออาหารมื้อนึงของบางคนก็ล่วงเลยเวลาไปมาก ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยๆ ปัญหาสุขภาพที่จะตามมาก็คือโรคกระเพาะอาหาร และโรคกรดไหลย้อน ซึ่งโรคนี้กลายเป็นโรคที่คุ้นเคยและถือเป็นโรคประจำตัวคนเมืองไปเสียแล้ว

2 โรคสุดฮิต ความเหมือนที่แตกต่าง

ทั้งโรคกระเพาะอาหารและโรคกรดไหลย้อน เป็นโรคที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร จนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น อาการของสองโรคนี้จะมีความคล้ายคลึงกัน ตรงที่มีอาการปวด จุกเสียดแน่นท้องคล้ายอาหารไม่ย่อย เหมือนมีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก ปวดแสบบริเวณลิ้นปี่ แต่ทั้งสองโรคนี้จะมีความเเตกต่างกันที่รายละเอียดของอาการและตำเเหน่งการแสดงอาการ

โรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะอาหาร หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่าโรคแผลในกระเพาะอาหารหมายถืง การเกิดแผลขึ้นในเยื่อบุทางเดินอาหาร ตรงส่วนที่สัมผัสกับน้ำย่อย ตำแหน่งที่พบอาการได้บ่อยจะอยู่ในกระเพาะส่วนปลาย ระหว่างรอยต่อของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น

ซึ่งคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารแล้วไม่ได้รับการดูแล อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โรคกระเพาะอาหาร จะมีอาการปวดแสบ ปวดเสียด ตื้อ จุกและแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ ซึ่งอาการจะเด่นชัดทั้งเวลาก่อนและหลังรับประทานอาหารใหม่ๆ หรือเวลาที่ท้องว่างในตอนเช้าหรือก่อนนอน

อาการปวดเหล่านี้เกิดจากภาวะกรดในกระเพาะอาหารสูง กรดนี้จะทำให้เกิดการระคายเคืองกัดผนังกระเพาะจนทำให้เกิดแผล โดยอาการปวด จุกเสียดแน่นนี้จะเป็นๆ หายๆ ครั้งละ 15-30 นาที วันละหลายครั้งตามเวลาของมื้ออาหาร และจะทุเลาลงเมื่อทานอาหารและน้ำเข้าไป

เช็คหน่อยว่าเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะหรือเปล่า

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารมาจาก 4 สาเหตุใหญ่ๆได้แก่

  • เกิดจากความบกพร่องทางร่างกายที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด อาจมีเนื้อเยื่อบุกระเพาะที่ไม่แข็งแรง ไม่สามารถทนกรดและน้ำย่อยที่หลั่งออกมาได้ นานวันเข้าจึงทำให้เกิดแผลและเป็นโรคกระเพาะอาหารตามมา
  • เกิดจากภาวะทางอารมณ์ การทำงานหนักบนแรงกดดันสูง มีภาวะความเครียด วิตกกังวล หงุดหงิด นอนไม่หลับและพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • เกิดจากลักษณะการใช้ชีวิต มีลักษณะการรับประทานอาหารที่ไม่ดี กินเร็ว รีบเร่ง ทานอาหารไม่เป็นเวลา อดหรือข้ามมื้ออาหาร ดื่มชา กาแฟมากเกินไป ดื่มเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือทานยาบางตัวที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร เช่น ยาจำพวกแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูก ข้อ ยาที่มีส่วนผสมของสตีรอยด์
  • เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิด “เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร” ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผนังและเยื่อบุกระเพาะอาหารอ่อนแอลง มีความทนทานต่อกรดและน้ำย่อยน้อยลง ทำให้แผลหายช้า นอกจากนี้ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรยังเป็นเชื้อที่ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

โรคกรดไหลย้อน

สำหรับกรดไหลย้อน “เกิร์ด”(GERD) เป็นโรคที่เกิดจากภาวะที่มีน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด (ประกอบด้วย กรดเกลือ หรือกรดไฮโดรคลอลิก) ล้นไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้เกิดการระคายเคือง บริเวณลำคอ แสบร้อนบริเวณทรวงอก และจุดเสียดแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ ซึ่งอาการที่คล้ายกันแบบนี้ทำให้คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคกระเพาะ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่

โรคกรดไหลย้อนเกิดจากความผิดปรกติของกล้ามเนื้อหูรูดตรงส่วนล่างของหลอดอาหาร หย่อนสมรรถภาพ โดยปรกติแล้วเมื่ออาหารเข้าไปสู่กระเพาะอาหาร หูรูดตัวนี้จะทำงานหดรัดเพื่อปิดกั้นไม่ให้น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร แต่สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคนี้หูรูดจะหย่อน ทำให้มีช่องว่างพอให้น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารมากกว่าปกติ เกิดความระคายเคืองขึ้นในหลอดอาหาร หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจทำให้เกิดอาการอักเสบที่เยื่อบุหลอดอาหารได้

ลักษณะอาการที่เด่นชัดของโรคกรดไหลย้อนคือ มีอาการแสบจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือยอดอก หลังรับประทานอาหาร 30-60 นาที แน่นหน้าอกคล้ายกับอาหารไม่ย่อย อาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วยได้เช่นกัน เรอเปรี้ยว ขมคอ หายใจมีกลิ่น เสียงแหบ เจ็บคอ แสบลิ้น หรือไอ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นๆ หายๆ แต่จะเป็นมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และแต่ละครั้งจะกินเวลาประมาณ 1-2 ชม.

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน

โรคนี้สามารถเกิดจากภาวะความผิดปรกติที่เกิดขึ้นได้เองภายในร่างกาย และเกิดจากพฤติกรรมที่ไปกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรค

  • เกิดจากอาการเสื่อมสมรรถภาพของหูรูดหลอดอาหาร สาเหตุอาจมากจากความเสื่อมถอยตามอายุ เพราะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีมักพบว่าป่วยเป็นโรคนี้ หรือ เกิดจากการที่หูรูดยังเจริญไม่เต็มที่ซึ่งจะพบมากในทารก หรือเป็นความผิดปรกติที่มีมาตั้งแต่กำเนิด และ ยังพบว่าโรคกรดไหลย้อนอาจเป็นผลพวงจากโรคอื่นๆได้ด้วย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ไส้เลื่อนดันกระบังลม และ ภาวะการตั้งครรภ์
  • เกิดจากพฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดโรค เช่น ทานมากเกินไป ทานอาหารปริมาณมากๆในมื้อเดียวทำให้น้ำย่อยที่หลั่งออกมามีปริมาณมาก กระเพาะอาหารขยายตัวมากขึ้น ทำให้หูรูดคลายตัว นิสัยกินแล้วนอน กินแล้วนั่งงอตัว หรือโค้งตัวต่ำลง โดยเฉพาะหลังจากทานอาหารภายใน 2 ชม. แม้แต่การใส่กางเกงหรือรัดเข็มขัดแน่นจนเกินไปก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคได้
  • เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูงอย่างชาและกาแฟ นอกจากจะกระตุ้นการเกิดโรคกระเพาะอาหารแล้ว ยังทำให้เกิดภาวะหูรูดคลายตัวที่เป็นสาเหตุของโรคกรดไหลย้อนได้
  • เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงๆ ของทอดๆ มันๆ จะทำให้กระเพาะอาหารเคลื่อนตัวช้าลง ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้มากขึ้นเช่นกัน
  • เกิดจากการสูบบุหรี่ ดื่มน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีคาร์บอเนต การรับประทานอาหารรสจัด เผ็ด เปรี้ยว บ่อยๆปริมาณมากๆ ก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ ทำให้หูรูดคลายตัวและมีกรดในกระเพาะอาหารสูง

แนวทางการรักษาโรคกระเพาะอาหาร และ โรคกรดไหลย้อน

แนวทางการบรรเทาอาการของโรคทั้งสองโรคนี้ สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดและกระตุ้นอาการของโรค ทั้งพฤติกรรมการรับประทานอาหารแบบผิดๆ การทานอาหารมันๆ อาหารรสชาติจัดจ้านมากเกินไป ลดละเลิกการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาแฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ทานอาหารในปริมาณที่พอดีไม่มากหรือน้อยเกินไป ทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่ทานอาหารแล้วนอน เป็นต้น

แนวทางการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน เช่น การใช้ยาลดกรด ยาเคลือบเยื่อบุกระเพาะและหลอดอาหาร หรือยารักษาโรคกระเพาะ ยาลดกรดแผนปัจจุบันต่างๆ ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้บ่อยๆ เป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มีอาการไม่สบายท้อง เบื่ออาหาร ฯลฯ

แนวทางการรักษาด้วยสมุนไพร การรักษาด้วยสมุนไพรพื้นบ้านไทยอย่างขมิ้นชันก็เป็นอีกทางเลือกนึงที่ได้รับความนิยม เนื่องจากขมิ้นชันเป็นสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการของโรคกระเพาะอาหาร และกรดไหลย้อนได้ มีฤทธิ์ช่วยขับลม ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเมือกมาเคลือบเยื่อบุกระเพาะและลำไส้ ยับยั้งการหลั่งน้ำย่อย ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารและระบบทางเดินอาหาร ต้านการอักเสบของลำไส้ใหญ่ และช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่ไม่มีพิษเฉียบพลัน ไม่สะสมในตับ ถือว่ามีความปลอดภัยสูงในการนำมาใช้รับประทาน

นอกจากขมิ้นชันจะดีกับกระเพาะและระบบทางเดินอาหารแล้ว ขมิ้นชันไม่เพียงแต่มีสรรพคุณในแง่การบรรเทาโรคเท่านั้น แต่ยังเป็นสมุนไพรที่ช่วยบำรุงร่างกายได้อีกด้วย ในขมิ้นชันนั้นอุดมไปด้วยวิตามิน เอ, ซี, อี ที่เมื่อทำงานพร้อมกันจะช่วยลดไขมันในตับ ช่วยให้การทำงานของระบบย่อยอาหารดีขึ้น ช่วยทำความสะอาดลำไส้ บำรุงสมอง และช่วยบำรุงปอด นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยในขมิ้นชัน ยังช่วยยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส มีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย มีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบที่เกิดกับอวัยวะภายใน

เผย 7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ ที่ควรรู้เอาไว้ เพื่อสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี

เผย 7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ ที่ควรรู้เอาไว้ เพื่อสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี

          ในปัจจุบันนี้โรคภัยกลายเป็นสิ่งใกล้ตัวที่คอยถามหาเราอยู่เสมอ เราจึงต้องดูแลสุขภาพกันให้ดีเป็นพิเศษ บางคนอาจจะสรรหาอาหารเสริมหรืออาหารบำรุงต่าง ๆ เพื่อบำรุงให้มีสุขภาพที่ดี ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วการมีสุขภาพดีอาจเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด อย่างที่เว็บไซต์ allwomenstalk.com นำเอาเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพที่ดีมากฝากกัน อยากมีสุขภาพที่ดีต้องอ่านเลยล่ะค่ะ
 

7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ


  กล้วย ช่วยลดอาการท้องอืดได้

          ก่อนที่จะไปดูกันว่ากล้วยช่วยลดอาการท้องอืดได้อย่างไร เรามารู้จักกับอาการท้องอืดกันก่อน ท้องอืดเป็นอาการที่เกิดแก๊สจำนวนมากในกระเพาะอาหาร บางครั้งก็เกิดจากการรับประทานโซเดียมมากเกิน และเจ้ากล้วยนี่ล่ะค่ะที่จะช่วยทำให้อาการท้องอืดบรรเทาลงได้ เพราะกล้วยมีปริมาณโพแทสเซียมสูง ซึ่งจะไปจัดการกับผลกระทบที่เกิดจากโซเดียมส่วนเกินทำให้อาหารท้องอืดเบาบางลง แต่ถ้าคุณไม่อยากท้องอืดละก็ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมมากเกินไปตั้งแต่แรกจะดีกว่า จะได้ไม่ต้องมานั่งอึดอัดไงล่ะ

 น้ำในร่างกายจะทำให้น้ำหนักตัวของคุณจะขึ้นลงอย่างน้อยวันละ 1 - 2 กิโลกรัม

          คุณเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่าทำไมเวลาที่ชั่งน้ำหนักในตอนเช้าและตอนเย็นถึงต่างกัน ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้กินเยอะมากมาย แต่นั่นก็เป็นเพราะน้ำหนักของน้ำในร่างกายที่มาจากอาหารที่มีรสเค็มหรือภาวะมีประจำเดือนของคุณที่ทำให้น้ำหนักเหล่านี้ขึ้นหรือลงตลอดเวลา แต่ถ้าหากคุณต้องการที่จะจัดการกับเจ้าน้ำหนักของน้ำที่มีในร่างกายละก็ คุณควรจะไปปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาขับปัสสาวะก็ได้ค่ะ

7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ


 การนั่งอยู่กับที่มากกว่าวันละ 11 ชั่วโมงทำให้อายุสั้นลง

          การนั่งทำงานอยู่กับโต๊ะตลอดเวลาโดยไม่ลุกไปไหนทั้งวันอาจจะทำให้คุณอายุสั้นลงโดยที่ไม่รู้ตัว นั่นก็เป็นเพราะว่าเมื่อร่างกายของเราไม่ได้ขยับเขยื้อนไปไหนเลยก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบเผาผลาญ ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย หรือแม้แต่ระบบไหลเวียนเลือด ดังนั้นถ้าอยากจะมีอาุยที่ยืนยาว ก็หมั่นลุกจากโต๊ะทำงานบ้างนะคะ แค่เพียงลุกไปเข้าห้องน้ำก็ช่วยได้มาก หรือถ้าไม่อยากลุกก็ลองยืดเส้นยืดสายที่โต๊ะทำงานดูนะคะ ก็ช่วยได้เหมือนกันค่ะ

ชาเขียวช่วยสร้างเสริมการทำงานของสมองได้

          เรารู้กันดีว่าชาเขียวมีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะเจ้าชาเขียวนี่มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่สูง จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ แต่อีกประโยชน์หนึ่งที่สำคัญก็คือ ชาเขียวช่วยสร้างเสริมการทำงานของสมองได้อีกด้วย โดยมีการศึกษาหนึ่งพบว่าคนที่ดื่มชาเขียวเป็นประจำจะช่วยทำให้มีความจำดีกว่าผู้ที่ไม่เคยดื่มเลย ได้รู้แบบนี้แล้วก็รีบหาชาเขียวมาดื่มดีกว่านะคะ

7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ


น้ำตาล ทำให้อาการช่วงมีประจำเดือนเลวร้ายลง

          หลายคนมักคิดว่าการรับประทานของหวานในช่วงมีประจำเดือนจะช่วยให้อาการต่าง ๆ ที่เกิดในช่วงมีประจำเดือนลดลง แต่ที่จริงแล้วมันนี่ล่ะตัวร้ายที่ทำให้อาการเหล่านั้นยิ่งแย่ลง เพราะการรับประทานน้ำตาลมากเกินไปจะไปทำให้แมกนีเซียมในร่างกายลดลง ทำให้ท้องอืด ซึ่งท้องอืดเป็นอาการที่คุณคงไม่อยากจะเป็นในช่วงมีประจำเดือนแน่ ๆ ดังนั้นถ้ามีประจำเดือน เปลี่ยนจากของหวานมาทานของว่างที่ดีต่อสุขภาพอย่างเช่นผลไม้จะดีกว่านะคะ

ข้าวโอ๊ตช่วยให้อารมณ์ดี

          เชื่อว่าใคร ๆ ก็คงอยากจะมีเช้าและวันทำงานที่สดใสใช่ไหมคะ อยากจะบอกว่าข้าวโอ๊ตช่วยได้ค่ะ เพราะข้าวโอ๊ตนั้นจะไปช่วยเพิ่มระดับของเซโรโทนิน (Serotonin) ในสมอง ซึ่งสารชนิดนี้เป็นสารที่ช่วยทำให้อารมณ์ดีได้ค่ะ ฉะนั้นมื้อเช้าครั้งหน้าลองหาข้าวโอ๊ตมารับประทานเป็นอาหารเช้านะคะ

7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ


 การออกกำลังกายตั้งแต่วัยรุ่นจะช่วยให้มีความจำดีเมื่อแก่ตัวลง

          การเริ่มออกกำลังกายตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว นอกจากจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงสืบไปจนถึงอนาคตแล้ว ก็ยังเป็นผลดีต่อสมองอีกด้วย เพราะมีการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายเป็นประจำในช่วงอายุ 20 ปีเป็นต้นไปจะช่วยให้มีความจำที่ดีแม้วัยจะล่วงเลยไปถึง 40 หรือ 50 ขึ้นไปแล้วก็ตาม 

          สุขภาพร่างกายของเราเป็นสิ่งที่สำคัญ หากเราดูแลรักษามันอย่างดีก็จะช่วยให้สุขภาพจิตใจของคุณดีตามไปด้วย แต่ถ้าหากคุณปล่อยปละละเลยมันก็อาจจะทำให้ทั้งกายและใจของคุณแย่ลง หลังจากนั้นโรคภัยต่าง ๆ ก็จะถามหา ดังนั้นก่อนที่จะต้องเสียเงิน และเสียเวลาไปกับโรคภัยเหล่านั้น ก็ควรหันกลับมารักสุขภาพตนเองมาก ๆ นะคะ


แหล่งข้อมูล www.kapook.com

โรคมือเท้าปากเปื่อย

โรคมือเท้าปากเปื่อย

โรคมือเท้าปากเปื่อยเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก ทำให้มีอาการไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว จัดเป็นโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย

 

สาเหตุของโรคมือเท้าปากเปื่อย

โรคมือเท้าปากเปื่อยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย เช่น คอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) กลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต สำหรับผู้ใหญ่พบโรคนี้ได้บ้าง

 

การติดต่อของโรคมือเท้าปากเปื่อย

โรคมือเท้าปากเปื่อยสามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใส รวมถึงอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่ และสามารถติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสของเล่น พื้นผิวสัมผัสที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ มือของผู้เลี้ยงดู โดยสถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล และช่วงที่มักมีการระบาดของโรคนี้คือ ช่วงฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว อย่างไรก็ดี โรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่สัตว์หรือสัตว์สู่คน

 

ทั้งนี้ โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้อีก เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของเชื้อไวรัสเดียวกัน

 

อาการและภาวะแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปากเปื่อย

อาการเริ่มต้นของโรคมือเท้าปากเปื่อยจะคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ประมาณ 2-4 วัน และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จากนั้นจะมีผื่นแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ต่อมาเกิดผื่นแดงที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ในบางรายอาจพบที่ก้นด้วย โดยผื่นที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสและแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ โดยส่วนใหญ่หากไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นอาการมักหายได้เองภายใน 7-10 วัน

 

อย่างไรก็ตาม โรคมือเท้าปากเปื่อยอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงเสียชีวิตได้ โดยอาการแทรกซ้อนไม่สัมพันธ์กับจำนวนแผลในปากหรือตุ่มที่พบตามฝ่ามือฝ่าเท้า ในรายที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงอาจมีแผลไม่กี่จุดในลำคอหรืออาจมีตุ่มเพียงไม่กี่ตุ่มตามฝ่ามือฝ่าเท้าก็ได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก แม้จะดูว่าผื่นและแผลในปากหายไปแล้วก็ตาม โดยสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เช่น

  • เด็กมีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่อยากรับประทานอาหารหรือนม

  • บ่นปวดศีรษะมาก ปวดทนไม่ไหว

  • มีอาการพูดเพ้อไม่รู้เรื่อง สลับกับการซึมลง หรือเห็นภาพแปลกๆ

  • ปวดต้นคอ คอแข็ง มีการรับรู้สับสน ซึมลง และอาเจียน

  • มีอาการสะดุ้งผวา ตัวสั่นๆ แขนหรือมือสั่นบ้าง

  • มีอาการไอ หายใจเร็ว ดูเหนื่อยๆ หน้าซีด มีเสมหะมาก โดยอาจมีหรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้

 

การวินิจฉัยและการวินิจฉัยแยกโรค

แพทย์จะทำการวินิจฉัยแยกโรคตามอาการ โดยผู้ป่วยที่มีผื่นที่มือ อาจต้องแยกออกจากโรคผื่นแพ้ โรคอีสุกอีใส ผื่นจากเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ สำหรับโรคมือเท้าปากเปื่อย โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากอาการและอาการแสดง แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์อาจทำการส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมนี้ไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ได้แก่

  • การส่งตรวจตัวอย่างสิ่งคัดหลั่งและ/หรืออุจจาระเพื่อหาเชื้อไวรัส (ใช้เวลาประมาณ 1-7 วัน ขึ้นกับวิธีการตรวจ)

    • การตรวจหายีนของไวรัสด้วยวิธี polymerase chain reaction (PCR)
    • การเพาะเชื้อไวรัส (virus culture)

 

การรักษาโรคมือเท้าปากเปื่อย

นื่องจากในปัจจุบันโรคมือเท้าปากเปื่อยยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ การรักษาจึงเป็นการรักษาอาการทั่วๆ ไปตามแต่อาการของผู้ป่วย เช่น เจ็บคอมาก รับประทานอะไรไม่ได้ ผู้ป่วยดูเพลียจากการขาดอาหารและน้ำ ก็จะให้พยายามป้อนน้ำ นมและอาหารอ่อน ในรายที่เพลียมากอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด และ/หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนทางสมองและหัวใจ เป็นต้น

 

การป้องกันโรคมือเท้าปากเปื่อย

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปากเปื่อย สิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดี โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันโรคมือเท้าปากเปื่อย รวมถึงป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้โดย

  • หลีกเลี่ยงการให้เด็กคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย

  • รักษาอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้เลี้ยงดูเด็กเล็กควรล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทาน และรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด

  • ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ขวดนม

  • เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว

  • รีบซักผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ

  • หากเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปากเปื่อยให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมือเท้าปากเปื่อย ต้องให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย

 

ในกรณีที่มีการติดเชื้อโรคมือเท้าปากเปื่อยชนิดที่มีอาการรุนแรงโดยเฉพาะมีการเสียชีวิต เช่น เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 สถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาลอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการการป้องกันที่เข้มข้นขึ้น เช่น

  • การปิดทั้งโรงเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นต่างๆ

  • การคัดแยกเด็กป่วยออกตั้งแต่เดินเข้าที่หน้าประตูโรงเรียน

  • การหมั่นล้างมือ เช็ดถูทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นต่างๆ

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับลูกที่สุด จะต้องหมั่นสังเกตอาการ หากลูกมีอาการป่วยที่ผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที


แหล่งข้อมูล https://www.bumrungrad.com/th/children-pediatric-health-care-surgery-center-bangkok-thailand/conditions/hand-foot-mouth

กิจกรรมเด่น

IMAGE การขับเคลื่อนจริยธรรม
Wednesday, 03 April 2024
 เมื่อวันที่ 4 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2567... Read More...
IMAGE RE-X-RAY
Tuesday, 27 February 2024
                           ... Read More...
IMAGE กิจกรรมเสริมสร้างค่านิยมต่อต้านการทุจริต
Monday, 24 April 2023
  เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566... Read More...
IMAGE กิจกรรมการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
Wednesday, 19 April 2023
รายงานผลการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน... Read More...
IMAGE การสร้างวัฒนธรรม No Gift Policy
Thursday, 09 March 2023
เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๗... Read More...

ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง อบต.

ประชาสัมพันธ์ข้อมูลการประกวดราคาของเทศบาลอุดมธรรม
Wednesday, 04 January 2023
ประชาสัมพันธ์ประกาศเทศบาลอุดมธรรม เรื่อง... Read More...
ประชาสัมพันธ์ ประกาศเทศบาลอุดมธรรม
Tuesday, 15 November 2022
  ประชาสัมพันธ์ เรื่อง... Read More...
ประกาศเผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้าง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566
Monday, 10 October 2022
ประกาศเผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้าง ประจำปีงบประมาณ... Read More...
ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง จำนวน ๗ โครงการ
Thursday, 21 October 2021
ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง จำนวน ๗... Read More...
ประกาศผลผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้าง ประจำไตรมาสที่ 1 (เดือนตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2562)
Tuesday, 11 February 2020
ประกาศผลผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้าง ประจำไตรมาส ที่ 1... Read More...
แผนการปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี
Wednesday, 16 September 2015
1.แผนการปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี พ.ศ.๒๕๕๗... Read More...
รายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างหรือการจัดหาพัสดุประจำปี
Wednesday, 16 September 2015
รายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างหรือการจัดหาพัสดุประจำปี... Read More...

นายก

DUM1

ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร

มุมผู้สูงอายุ